Council of IT Deans, Thailand

สภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย

สมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
The Association of Council of IT Deans (CITT)

ลักการในการก่อตั้ง

ปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาคุณภาพ และการดำรงชีวิตในสังคม รวมทั้งการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยและของโลก องค์การทุกประเภทได้มีการนำเทคโนโลยี สารสนเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในทางยุทธศาสตร์ และในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ซึ่งมีผลทำให้เกิดความต้องการบุคลากร และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมากมาย ตามไปด้วย บทบาทที่สำคัญประการหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ก็คือการรับใช้สังคมและพัฒนาประเทศ ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง และความสำคัญดังกล่าวของเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงได้มีการพัฒนาหลักสูตร และเปิดดำเนินการสอนทางด้านสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ในประเทศไทยหลายมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึง ความสำคัญในการผลิต บัณฑิตที่มีคุณภาพในสาขาวิชาดังกล่าวเป็นอย่างมากด้วยการจัดตั้งคณะหรือหน่วยจัด การศึกษาที่ดูแล รับผิดชอบโดยตรงต่อการเรียนการสอนในสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนใหญ่แล้ว ก็จะมีการตั้งชื่อคณะว่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่อย่างไรก็ตาม บางมหาวิทยาลัยอาจจะตั้งคณะที่มีชื่อที่ใกล้เคียงกันก็ได้ อาทิเช่น คณะสารสนเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ คณะวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในปัจจุบัน คณะเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นองค์การภาคการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในสังคมอย่างกว้างขวางทั้งในภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา นอกจากนื้ยังมีนักเรียน นักศึกษาจำนวนมากที่ให้ความสนใจในการเข้ามาศึกษา และเล่าเรียนในคณะดังกล่าว เพื่อไปประกอบวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นต้นมา คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือคณะที่เกี่ยวข้องจาก ๙ มหาวิทยาลัยได้มีการนัดพบปะเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทางด้านวิชาการ งานวิจัย และการบริการสังคม สิ่งที่เป็น รูปธรรมที่เกิดจากการพบปะพูดคุยกันในช่วงนั้น ก็คือการจัดการประชุมระดับชาติชื่อว่า National Conference on Information Technology ซึ่งได้ผลัดกันเป็นเจ้าภาพจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำวารสารงานวิจัยที่ชื่อว่า Journal of Information Science and Technology รวมทั้งการทำกิจกรรมเพื่อลดช่องว่างดิจิทัลด้วย อย่างไรก็ตาม คณบดีทั้ง ๙ สถาบันยังมีความคิดเห็นร่วมกันว่าการจัดตั้งองค์การ อิสระในรูปแบบของสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย เป็นแนวทางที่สำคัญที่จะช่วยทำให้สามารถขับเคลื่อนความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ และงานวิจัยในสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและที่เกี่ยวข้อง ได้เพิ่มมากขึ้นและมีความยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้การจัดตั้งสภาคณบดียังช่วยให้กลุ่มสถาบันอุดมศึกษามีตัวแทน ที่เป็นองค์การวิชาการทางด้านสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ  และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติ และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับประชาคม อาเชียนต่อไป


วัตถุประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน และจริยธรรม ด้านวิชาการ การวิจัย และการ เรียนการสอนของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถแข่งขันในระดับสากล
  2. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกันในทุกๆด้านระหว่างคณะเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นสมาชิก
  3. เพื่อเป็นองค์การกลางในการเชื่อมโยงความต้องการด้านบุคลากรของอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับการผลิตบัณฑิตทุกระดับของสถาบันอุดมศึกษา
  4. เพื่อเป็นองค์การหลักทางด้านวิขาการที่ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายด้าน การศึกษาเพื่อ สร้าง ความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนให้กับการศึกษาในสาขาวิขาที่เกี่ยวข้อง กับเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเป็นปัจจัย
  5. เพื่อเป็นองค์การหลักทางด้านวิขาการที่ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายด้าน การศึกษาเพื่อ สร้าง ความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนให้กับการศึกษาในสาขาวิขาที่เกี่ยวข้อง กับเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเป็นปัจจัย หลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและ ประเทศชาติ
  6. เพื่อเป็นตัวแทนของสถาบันอุดมศึกษาในสาขาวิขาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทยใน การเจรจา และประสานความร่วมมือกับองค์การต่างๆ ที่เป็นส่วนราขการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ

การเริ่มก่อตั้งสภา

๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ ทบทวนข้อตกลงโครงการจัดตั้ง และธรรมนูญสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ เห็นชอบและลงนามในเอกสารบันทึกข้อตกลงร่วม ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๔ จัดประชุมสภาสามัญครั้งแรก เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการ (จะทำการกำหนดต่อไป) แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบการจัดตั้งสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย


คุณลักษณะขององค์กร

สภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทยเป็นองค์การอิสระทางด้านวิชาการซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากหน่วยงานระดับคณะและมีชื่อเป็นคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือหน่วยงานระดับคณะที่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น หน่วยงานนั้นมีการจัดการศึกษาในสาขาวิชาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก


สถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิกปัจจุบัน

  1. คณะวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
  2. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  3. วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  4. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  5. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  6. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาเขตศาลายา)
  7. สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  8. วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตภูเก็ต)
  9. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (วิทยาเขตกล้วยน้ำไท)
  10. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  11. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต
  12. คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  13. สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  14. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสยาม
  15. คณะวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยนครพนม
  16. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี)
  17. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
  18. คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  19. คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา
  20. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา
  21. คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
  22. วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น